Wednesday, June 26, 2013

บทความเรื่องเครื่องบิน - Airbus A300 เครื่องบินลำตัวกว้างลำแรกของโลก!

บทความเรื่องเครื่องบิน - Airbus A300 เครื่องบินลำตัวกว้างลำแรกของโลก!


หลังจากได้ลุยรุ่นใหญ่ของ Boeing มาแล้ว 2 รุ่น คราวนี้ได้เวลาของ Airbus บ้างครับ ขอเริ่มจากรุ่นแรกของ Airbus เลยล่ะกัน

Airbus A300 เป็นเครื่องบินแบบลำตัวกว้าง 2 เครื่องยนต์ลำแรกของโลก ได้เริ่มขึ้นบินครั้งแรกในปี 1972 โดยมีพิสัยการบินสูงสุด 7,540 กิโลเมตรและบรรทุกผู้โดยสารได้ 266 ที่นั่ง (ในการจัดที่นั่งแบบสองคลาส)

การพัฒนาเครื่อง A300 ได้เริ่มขึ้นในปี 1967 จากการตกลงกันระหว่างรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ในการสร้างเครื่องบินขนาด 300 ที่นั่ง และได้มีการจัดตั้งบริษัท Airbus Industrie อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท Aerospatiale ของฝรั่งเศสและ Deutsche Aerospace ของเยอรมันในปี 1970 โดยมีบริษัท CASA ของสเปนเข้าร่วมด้วยในปี 1971

การพัฒนาและประกอบเครื่อง A300 นั้น ใช้ระบบ Just-in-time โดยใช้ชิ้นส่วนต่างๆจากบริษัทคู่ค้าจากหลากหลายประเทศในยุโรป โดยโรงงานประกอบนั้นตั้งอยู่ที่เมือง Toulouse ของฝรั่งเศส ส่วนระบบต่างๆของเครื่องนั้นได้รับการพัฒนาต่อมาจากเครื่อง Concorde

ในปี 1972 เครื่อง A300 ได้บินขึ้นเป็นครั้งแรก โดยรุ่นแรกนั้นได้ชื่อรุ่นว่า A300B2 และได้เริ่มบินเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในปี 1974 กับสายการบิน Air France จากกรุงปารีสไปลอนดอน ส่วนรุ่นถัดมา A300B4 ก็ได้เริ่มบินในปีเดียวกัน

ในช่วงปีแรกๆที่เข้าประจำการ เครื่อง A300 ทำยอดขายได้ไม่ดีนัก เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งจำนวนผู้โดยสารที่ไม่เพียงพอในการทำการบิน เนื่องจากเที่ยวบินระยะสั้นมักจะใช้เป็นเครื่องขนาดเล็กซะมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในปี 1974 สายการบิน Korean Air ได้สั่งซื้อเครื่อง A300 จำนวน 4 ลำ โดยเป็นสายการบินต่างชาตินอกทวีปยุโรปเจ้าแรกที่สั่งซื้อ หลังจากนั้นไม่นาน สายการบินต่างๆในเอเชียก็ได้เริ่มสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้เช่นเดียวกัน ทั้ง JAS, China Eastern, Singapore Airlines, Malaysia Airlines, Philippine Airlines, Garuda Indonesia และการบินไทยเอง เนื่องจากประเทศในเอเชียไม่มีข้อจำกัด ETOPS เหมือนกับสหรัฐอเมริกา (ข้อจำกัด ETOPS คือข้อห้ามสำหรับเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์ทำการบินเกิน 60 นาทีในเหตุฉุกเฉิน)

ในปี 1977 ทาง Eastern Airlines ได้เป็นสายการบินแรกในสหรัฐที่สั่งซื้อเครื่อง A300 มาใช้เป็นจำนวน 23 ลำ เครื่อง A300 เองใช้น้ำมันน้อยกว่า Lockheed L-1011 ถึง 30% ทางสายการบิน Pan Am เองก็ได้สั่งเครื่อง A300 มาใช้เช่นกัน และในปีเดียวกัน เครื่อง A300B4 ได้รับการรับรอง ETOPS ลำแรก เพราะความสามารถและเสถียรภาพในการทำงาน ในปี 1981 เครื่อง A300 ก็ได้ทำยอดขายไปมากกว่า 300 ลำ

ในปี 1983 Airbus ได้พัฒนาเครื่องบิน A300 เพิ่มเติม โดยเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่และพัฒนาระบบควบคุมการบิน ได้ชื่อรุ่นว่า A300-600 และได้พัฒนารุ่นสั้นลง ได้ชื่อรุ่นว่า A310

ในปี 2006 ทาง Airbus ได้ตัดสินใจปิดการผลิตเครื่อง A300 และ A310 เนื่องจากการพัฒนาเครื่องรุ่นใหม่อย่าง A330 ที่ใช้ระบบ fly-by-wire และใช้ระบบคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ โดยเครื่อง A300 นั้นได้ผลิตไปทั้งหมด 561 ลำ

ในปัจจุบัน เครื่อง A300 กำลังจะถูกทดแทนด้วยเครื่อง A330 โดยยังมีการใช้งานอยู่ประมาณ 200 กว่าลำทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นเครื่องขนส่งสินค้าทางอากาศ สายการบินที่ใช้ A300 เป็นหลักได้แก่ FedEx (71 ลำ), UPS (53 ลำ), Mahan Air (19 ลำ), European Air Transport (6 ลำ) และการบินไทย (6 ลำ)


เครื่อง A300 ลำแรกของโลก


เครื่อง A300B2 ของ Air France


เครื่อง A300B4 ของ Garuda Indonesia


เครื่อง A300-600 ของการบินไทย