Wednesday, June 26, 2013

บทความเรื่องเครื่องบิน - Boeing 777

งั้นก็เข้าเรื่องแรกกันเลยนะครับ! เรื่องของเครื่องบิน Boeing 777



Boeing 777 เป็นเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์แบบลำตัวกว้าง โดยในปัจจุบันเป็นเครื่องบินแบบ 2 เครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพิสัยการบินไกลสูงสุดถึง 17,370 กิโลเมตร และสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 440 ที่นั่ง (โดยจัดที่นั่งแบบ 3 คลาส)

เครื่อง 777 ได้ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1988 จากความต้องการของสายการบินต่างๆทีเตรียมจะปลดเครื่องบินรุ่นเก่าอย่าง McDonnell Douglas DC-10 และ Lockheed L-1011 TriStar ออก รวมทั้งเป็นการเติมเต็มความต้องการของสายการบินที่มีช่องว่างของตลาดเครื่องบิน 767-300ER และ 747-400 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในช่วงนั้น โดยทาง Boeing ซึ่งเป็นผู้ผลิต ได้เชิญ 8 สายการบินใหญ่ ได้แก่ - ANA, American Airlines, British Airways, Cathay Pacific, Delta Airlines, Japan Airlines, Qantas และ United Airlines มาประชุมเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเครื่อง 777 ด้วย เครื่อง 777 ยังเป็นเครื่องบินรุ่นแรกที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาผ่านโปรแกรม CAD ที่มีชื่อว่า CATIA จากบริษัท Dassault Systems และ IBM ทำให้ผู้ผลิตสามารถทดสอบและจำลองการทำงานจริงของเครื่องบินได้ โดยไม่ต้องสร้างตัวต้นแบบ ทาง Boeing ได้ลงทุนในการพัฒนาเครื่อง 777 ด้วยจำนวนเงินมากกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 1990 ทาง United Airlines ได้ทำการจัดซื้อเครื่อง 777 เป็นเจ้าแรกของโลก โดยสั่งซื้อไปถึง 34 ลำเพื่อทดแทนเครื่อง DC-10 ที่ประจำอยู่ในฝูงบิน ทาง Boeing ได้เริ่มกระบวนการผลิตในปี 1993 โดยมียอดจองเครื่องมากถึง 118 ลำ และได้ทำการนำเครื่องขึ้นบินครั้งแรกในปี 1994 โดยทำการทดสอบหนักทั้งหมดจำนวน 9 ลำ ในปี 1995 เครื่อง 777 ก็ได้รับการรับรองจากองค์การการบินของสหรัฐ (FAA) และสหภาพยุโรป (EASA)

เครื่อง 777 ได้ทำการบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในวันที่ 7 มิถุนายน 1995 จากกรุงลอนดอนไปยังวอชิงตัน ดีซี โดยสายการบิน United Airlines ซึ่งเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นของ Pratt & Whitney รุ่น PW4084 นอกจากนี้ เครื่อง 777 ที่ใช้เครื่องยนต์รุ่น General Electric GE90-77B ก็ได้ทำการบินกับสายการบิน British Airways ในปีเดียวกัน ส่วนเครื่อง 777 ที่ใช้เครื่องยนต์ Rolls-Royce Trent 877 ได้เข้าประจำการกับการบินไทยในปี 1996

ในปี 1997 เครื่อง 777 ได้ถูกสั่งซื้อไปมากกว่า 323 ลำ เป็นผลพวงมาจากความสามารถของเครื่องที่สามารถทำการบินเหนือทะเลระยะทางไกลได้ รวมทั้งเสถียรภาพที่สูงถึง 99.96%

หลังจากที่เครื่อง 777 รุ่นแรก (777-200) ได้เข้าสู่การบินเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัว ทาง Boeing ก็ได้ตัดสินใจที่จะพัฒนาเครื่องรุ่นนี้ต่อ เพื่อเสริมความสามารถและพิสัยการบินที่สูงขึ้น โดยมีชื่อรุ่นว่า 777-200ER (โดย ER หรือ Extended Range หมายถึงพิสัยการบินที่สูงขึ้น) และได้รับการรับรองในปี 1997

หลังจากที่เปิดตัวรุ่น -200ER ไปได้ไม่นาน Boeing ก็ได้ตัดสินใจที่จะพัฒนาเครื่องต่อ โดยขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น และให้ชื่อรุ่นว่า 777-300 ซึ่งได้รับการรับรองในปี 1998

หลังปี 2000 เป็นต้นมา ทาง Boeing ได้ทำการพัฒนาเครื่อง 777 ต่อ โดยเครื่องยนต์ที่ใช้จะเหลือแค่ General Electric GE90 เป็นเจ้าเดียว รุ่นที่พัฒนาต่อได้แก่ 777-300ER ซึ่งได้รับการรับรองในปี 2004 และได้กลายเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดในช่วงนั้น เพราะขนาดที่ใหญ่และพิสัยการบินที่ไกลมากถึง 14,690 กิโลเมตร (เทียบกับ -300 ที่พิสัย 11,120 กิโลเมตร)

รุ่นถัดมา ซึ่งปัจจุบันเป็นเครื่องบินที่สามารถทำการบินได้ไกลที่สุดในโลก คือ 777-200LR ซึ่งได้ขึ้นบินในปี 2005 และได้ทำการบันทึกลงในหนังสือ Guinness Book ที่ระยะบิน 21,602 กิโลเมตรจากฮ่องกงไปยังลอนดอน โดยเป็นเที่ยวบินพิเศษที่ไม่ได้บรรทุกผู้โดยสาร

ปัจจุบัน เครื่อง 777 ได้ถูกผลิตไปแล้วมากกว่า 1,100 ลำ และประจำการอยู่กับสายการบินยักษ์ใหญ่ต่างๆทั่วโลก โดยสายการบินหลักที่ใช้เครื่องรุ่นนี้ได้แก่ Emirates (108 ลำ), United Airlines (74 ลำ), Air France (64 ลำ), Singapore Airlines (59 ลำ), และ ANA (51 ลำ) ส่วนการบินไทยเองมีใช้งานอยู่ 26 ลำ ถึงแม้ว่า Qantas จะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมออกแบบเครื่อง 777 ด้วย แต่กลับไม่เคยสั่งซื้อเครื่องรุ่นนี้เลย

ในอนาคต เครื่อง 777 ก็จะมีการพัฒนาต่อไปอีก โดยรุ่นที่วางแผนอยู่ได้แก่ 777-8X และ 777-9X ถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อมูลมากนัก แต่ทาง Boeing คาดว่าจะสามารถนำไปใช้บินทางพาณิชย์ได้ภายในปี 2019





เครื่อง 777-200 ลำแรกของการบินไทย ทะเบียน HS-TJA


เครื่อง 777-200 ลำที่สองของการบินไทย ทะเบียน HS-TJB

No comments:

Post a Comment